หนุ่มสาวเจน-Z อเมริกันกับบทบาทกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 

กลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อายุน้อยที่สุดในสหรัฐฯ คือประชากรวัย Gen Z ที่อายุระหว่าง 18- 27 ปี แม้ว่าบางคนเริ่มโหวตครั้งแรก แต่พวกเขาคือแรงผลักดันการมีส่วนร่วมของชาวอเมริกันโดยรวม

ในขณะที่พวกเขาเรียนรู้กระบวนการเลือกตั้ง ชาว Gen Z จำนวนไม่น้อยยังลงมือเป็นนักรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิ์ พร้อมทั้งช่วยคนวัยเดียวกันเข้าใจกระบวนการการมีส่วนร่วมนี้ด้วย

กิจกรรมหนึ่งเกิดขึ้นที่วิทยาลัยมอนโกเมอรี ที่เมืองร็อควิลล์ รัฐแมริเเลนด์ คือการจัดตั้งคูหาเลือกตั้งจำลอง นักศึกษาที่เป็นเรี่ยวเเรงหลักของโครงการนี้ยังได้เชิญเจ้าหน้าที่ทางการมาให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้งด้วย

บริตนีย์ กรีน ผู้จัดการเลือกตั้งจำลองบอกว่า กิจกรรมลักษณะนี้จะช่วยเตรียมตัวผู้ใช้สิทธิ์ให้รู้ว่าในวันเลือกตั้งจริงจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยาามให้นักศึกษาออกไปลงคะเเนนเสียงเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้

อัคห์ยาน ดามาง ผู้ที่ยังไม่เคยมาเลือกประธานาธิบดีบอกว่า “ผมต้องการมาดูให้ทราบว่าการใช้สิทธิ์ครั้งแรกเป็นอย่างไร”

นามาดี อิเฟจูคา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคูหาเลือกตั้งจำลองครั้งนี้ บอกว่าเขามีความสนใจเรื่องหนี้ของประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่าสูงมาก 

“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงสูงขนาดนั้น”  อิเฟจูคากล่าว

หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมจัดกิจกรรม ลิบบี้ เเมคเคลตัน บอกว่าเธอสนใจเรื่องสิทธิ์การเจริญพันธุ์พร้อมทั้งสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ

มะฮัมบี มูซอนดา เพื่อนรวมโครงการอีกคนหนึ่ง บอกว่า “สำหรับหลายคนบทบาทของสหรัฐฯ ในโลกเป็นประเด็นที่สำคัญมากโดยเฉพาะโหวตเตอร์รุ่นใหม่”

รัฐเเมริเเลนด์แห่งนี้ถูกคาดหมายว่าจะเลือกรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ในการเเข่งขันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

แต่รัฐทางใต้ลงมาอย่างจอร์เจียเป็นรัฐสมรภูมิที่ต้องลุ้นแคนดิเดทคนใดจะชนะ

ประธานชาวพรรครีพับลิกันที่เป็นคนรุ่นใหม่ของรัฐจอร์เจีย แจคเควลีน แฮม ได้บอกกล่าวกับวีโอเอผ่านสไกป์ว่าประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนจำนวนมาก

เธอบอกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ยากที่จะมีครอบครัวในเวลานี้

“คุณไม่สามารถเข้าถึงผู้มีสิทธิ์ออกเสียง Gen-Z ด้วยการโทรหา เพราะพวกเขาใช้โปรแกรมบล็อกสแปม หรือไม่ก็ไม่รับสายที่ไม่คุ้น” เธอกล่าว พร้อมทั้งเสริมว่าคนรุ่นใหม่คือคนแห่งยุคโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งรับข่าวจากช่องทางนั้นเป็นหลัก 

อินฟลูเอ็นเซอร์การเมืองที่นิยมพรรคเดโมเเครต แฮร์รี ซิสซัน เห็นด้วยกับสิ่งที่แฮมกล่าว

“ผมจะบอกว่าแอปฯ สำหรับการรับข่าวสารหลักของคนรุ่นใหม่คือติ๊กตอก” ซิสซันกล่าว

ส่วนที่รัฐเวอร์จิเนีย คามิลา อัลฟอนโซ เมซา ใช้วิธีเคาะประตูตามบ้านเพื่อช่วยรณรงค์ทางการเมืองให้กับคามาลา แฮร์ริส ที่เมืองเฮิร์นดอน 

เธอบอกว่าบางครั้งคนไม่เปิดประตูออกมาคุุยด้วย แต่เธอก็พยายามต่อไปเรื่อย ๆ แต่ก็บอกว่าได้เห็นความคึกคักของชาวเดโมเเครตรุ่นใหม่ หลังจากที่พรรคเปลี่ยนตัวเเคนดิเดทจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาเป็นแฮร์ริส

เธอกล่าวสรุปว่า ประชากร Gen Z ที่มีพลังโหวตกว่า 40 ล้านเสียงทั่วสหรัฐฯ น่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ได้

ที่มา: วีโอเอ